ความเป็นมา

กระบวนการจัดการเรื่องราวร้องเรียน

ด้วยรัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เพื่อนำไปสู่เสถียรภาพและประโยชน์สุข โดยใช้หลักธรรมาภิบาลที่ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ การแจ้งเบาะแส การทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือเสนอข้อคิดเห็น คำติชม ต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ให้เป็นไปด้วยความเสมอภาค โปร่งใส และเป็นธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 โดยวางหลักเกณฑ์มาตรฐานในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ ให้ทุกส่วนราชการมีการดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์มีแบบแผนและทิศทางเดียวกัน และได้จัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน บนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาล(Good Governance) เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน เกิดประสิทธิผล คุ้มค่ำ โปร่งใส และเกิดความเป็นธรรม

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น จึงได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์-ร้องเรียน ขึ้น เพื่อสนองต่อการพัฒนาระบบการดำเนินงานของหน่วยงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยมีกลุ่มงานนิติการ เป็นหน่วยประสานการจัดตั้งและดำเนินงานของศูนย์บริหารการจัดการเรื่องร้องทุกข์-ร้องเรียน โดยมีกลุ่มงานทุกกลุ่มงานร่วมกันดำเนินการตามภารกิจ และตามปัญหาการร้องทุกข์-ร้องเรือน หรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน และที่สำคัญคือเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมโดยรวมต่อไป

ประเภทเรื่องร้องทุกข์-ร้องเรียน

เรื่องร้องทุกข์-ร้องเรียน การแจ้งเบาะแส ข้อมูลข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ต่อศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์-ร้องเรียน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นได้ มีดังต่อไปนี้

  1. ด้านการบริหาร คือปัญหาหรือข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับ การจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้พัสดุ ครุภัณฑ์ของทางราชการ การบริหารงานบุคคลที่ไม่เป็นธรรม หรือการเบิกจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม หรือส่อทุจริตประพฤติมิชอบ ของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ทุกแห่ง
  2. ด้านบริการ เช่นการบริการขาดคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน หรือพฤติกรรมการให้บริการ รวมทั้งกาคุ้มครองสิทธิของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ หรือการอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น
  3. การทุจริต เช่นการแสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติงานในหน้าที่ฯ
  4. พฤติกรรมส่วนตัวของบุคลากร โดยมีความประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เมาสุรา ทะเลาะวิวาท ชู้สาว การพนัน หรืออื่น เป็นต้น
  5. ปัญหาสาธารณสุข ที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนหรือสังคม เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค การควบคุมบุหรี่ สุรา ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือมลภาวะ และปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ